สินค้าของเรา

สินค้าของเรา

หัวใจสั่นพริ้ว (AF) …คืออะไร?

Source: https://ww2.bangkokhospital.com/hearthospital/th/heart-care-excellence/medical-services/detail/32

หัวใจเต้นพริ้วคืออะไร
 
โรคหัวใจชนิดหนึ่งที่หัวใจห้องบนเต้นพริ้ว ไม่ผลักดันเลือดลงมาห้องล่างตามปกติ และมักจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างเร็วผิดปกติ เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ ในคนปกติอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที และเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ หัวใจห้องบนและล่างทำงานสัมพันธ์กัน อัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างในภาวะนี้อาจต่ำกว่าปกติ อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือ เร็วผิดปกติ ในภาวะนี้หัวใจห้องบนและล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน เราทุกคนสามารถวัดการเต้นของหัวใจได้จากการจับชีพจรที่ข้อมือหรือที่คอ ในผู้ป่วยที่มีภาวะนี้เวลาที่จับชีพจรจะพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอและมักจะเร็วผิดปกติ 

ผลแทรกซ้อนของโรคหัวใจเต้นระริก
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในโรคหัวใจเต้นพริ้ว คือ เส้นเลือดในสมองอุดตัน และโรคหัวใจล้มเหลว

  • เส้นเลือดในสมองอุดตัน

ในโรคหัวใจเต้นพริ้ว หัวใจห้องบนทั้งสองห้องไม่บีบตัวผลักเลือดลงมาตามปกติ ทำให้มีเลือดบางส่วนคั่งอยู่ในห้องบน อาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้ หากลิ่มเลือดเข้าสู่กระแสเลือดก็จะทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดอัมพาตได้

  • โรคหัวใจล้มเหลว

การที่หัวใจห้องบนเต้นพริ้วอาจส่งคลื่นกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจห้องล่างให้มีอัตราเต้นที่เร็วผิดปกติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงตามมา อาการที่พบ
ได้แก่ หายใจหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย ขาบวม และน้ำหนักขึ้น 

Source: https://ww2.bangkokhospital.com/hearthospital/th/heart-care-excellence/medical-services/detail/32
การแบ่งกลุ่มของโรคหัวใจเต้นพริ้ว

การแบ่งกลุ่มของโรคหัวใจเต้นพริ้ว

  1. Paroxysmal atrial fibrillation (PAF) หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถหายไปได้เองหรือจากการรักษาภายใน 7 วัน ส่วนใหญ่มักจะหายไปได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก
  2. Persistent atrial fibrillation หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานานกว่า 7 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี
  3. Longstanding persistent atrial fibrillation หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานานกว่า 1 ปี
  4. Permanent atrial fibrillation

หัวใจห้องบนเต้นพริ้วที่เกิดขึ้นและเป็นมานาน ที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติได้ด้วยวิธการต่างๆ หรือ แพทย์และผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะไม่พยายามรักษาให้กลับมาเต้นเป็นปกติ หากแต่จะคุมอัตราการเต้นหัวใจเท่านั้น

อาการของโรคหัวใจเต้นพริ้ว

อาการของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
ผู้ป่วยอาจจะมีหรือไม่มีอาการแสดง ผู้ป่วยบางคนได้รับการวินิจฉัยขณะที่ตรวจร่างกายแล้วพบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยบังเอิญ ผู้ป่วยที่มีอาการแสดงมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการใจสั่น อ่อนเพลีย อ่อนแรง ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง เวียนศรีษะ สับสน หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก

สาเหตุและกลไกการเกิดของโรคหัวใจเต้นพริ้ว

สาเหตุและกลไกการเกิดของโรคหัวใจเต้นพริ้ว
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ภาวะโรคหัวใจและโรคอื่นๆบางชนิดทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคหัวใจเต้นพริ้วได้สูง การที่ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีนมากเกินไปอาจจะกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจเต้นพริ้วได้ โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ใหญ่ในทุกกลุ่มอายุ ความชุกของโรคนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ พบความชุกมากถึงร้อยละ 10 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 75 ปี
 

สามารถแบ่งสาเหตุได้ดังนี้

  1. เป็นผลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะหลังผ่าตัดหัวใจ
  2. เป็นผลจากโรคของระบบอื่น เช่น ภาวะสูงวัย โรคอ้วน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคเบาหวาน โรคลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด โรคปอดเรื้อรัง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคติดเชื้อไวรัส ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด
  3. ไม่ทราบสาเหตุ

 กลไกการเกิดโรค

  1. มีจุดกำเนิดไฟฟ้าผิดปกติ ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายในหัวใจ เช่น ความดันในห้องหัวใจที่เพิ่มขึ้น หรือปัจจัยจากภายนอก เช่น ระดับไทรอยด์ฮอร์โมน ตำแหน่งของจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติมักอยู่ที่ pulmonary veins (เส้นเลือดดำจากปอดที่ต่อกับหัวใจห้องบนซ้าย)
  2. มีวงจรไฟฟ้าหมุนวนหลายตำแหน่ง จากพยาธิสภาพต่างๆ ที่ทำให้พังผืดเพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้าของเซลล์หัวใจ ซึ่งนำไปสู่การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดเป็นวงจรหมุนวนขึ้น
  3. ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีกลไกการเกิดทั้งสองแบบร่วมกัน
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นพริ้ว

การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นพริ้ว
การวินิจฉัยโรคนี้ก็เหมือนโรคทั่วไปซึ่งข้อมูลได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการตรวจอื่นๆ ซึ่งช่วยยืนยันการวินิจฉัย หรือ ตรวจหาสาเหตุการเกิดโรคนี้ เช่น การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือ บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการผิดปกติ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจเลือด
 
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจยืนยันการวินิจฉัยได้ดีที่สุด สามารถตรวจได้ที่คลินิค และโรงพยาบาล


 

 
คลื่นไฟฟ้าคลื่นไฟฟ้าหัวใจในคนปกติ คลื่นไฟฟ้าหัวใจในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเต้นพริ้ว

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือ บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการผิดปกติ
คืออุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกติดตัว สามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ยาวนานระดับหนึ่ง ช่วยในการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นพริ้วได้ดี เพราะว่าขณะที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์อาจจะมีหัวใจเต้นปกติ แต่หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นขณะที่อยูที่อื่น
 

การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง
ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ โดยหัวตรวจชนิดพิเศษ เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างน้ำ และเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้ มาสร้างภาพ ดังนั้นภาพที่เห็นก็คือ หัวใจของผู้ป่วย ด้วยวิธีการตรวจนี้ทำให้แพทย์ทราบโครงสร้างและการทำงานของหัวใจได้ดีขึ้น ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษา ในโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ และใช้เวลาไม่นาน
 
การตรวจนิยมทำ 2 วิธีคือ

  1. ตรวจโดยการใช้หัวตรวจ ตรวจบริเวณผนังทรวงอกด้านนอก เป็นการตรวจที่นิยมทำกันทั่วไป วิธีการทำค่อนข้างง่าย ไม่เจ็บตัว ไม่มีอันตรายใดๆ
  2. ตรวจโดยการใช้หัวตรวจ สอดผ่านช่องปาก เข้าไปอยู่ในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นตำหน่งด้านหลังของหัวใจโดยตรง การตรวจวิธีนี้ สามารถตรวจโครงสร้างของหัวใจ และหลอดเลือดที่อยู่ด้านหลังหัวใจ เช่น หัวใจห้องบนซ้าย ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ ได้ชัดเจนกว่าวิธีแรก วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางราย ทำเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น เนื่องจากอาจมีอันตรายต่อหลอดอาหารได้ นิยมตรวจในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นพริ้วเพื่อจะดูว่ามีลิ่มเลือดในหัวใจห้องบนซ้ายหรือไม่ก่อนการให้ยาหรือช็อคด้วยไฟฟ้าเพื่อปรับจังหวะหัวใจ

 
การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาอย่างหนึ่ง โดยถ่ายภาพทรวงอกด้วยรังสีเอกซ์ ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคและภาวะต่างๆเกี่ยวกับทรวงอกได้หลายอย่าง ไม่เจ็บตัว
 
การตรวจเลือด
ตรวจวัดระดับไทรอยด์ฮอร์โมน และระดับเกลือแร่ในร่างกาย เกลือแร่เป็นตัวช่วยปรับสมดุลภาวะกรดด่าง และ น้ำของร่างกาย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการทำงานในระบบต่างๆของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ

การรักษาโรคหัวใจเต้นพริ้ว

การรักษาโรคหัวใจเต้นพริ้ว
มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการและลดภาวะแทรกซ้อน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการลดอัตราตายและอัตราการเข้าโรงพยาบาล โดยมีวิธีการหลายอย่างดังนี้

  1. ค้นหาและรักษาสาเหตุการเกิดโรคหัวใจเต้นระริก
  2. ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ
  3. ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
  4. ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและลดอัตราการเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตัน

การรักษาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยา การเปลี่ยนจังหวะการเต้นหัวใจ การจี้รักษา และการผ่าตัดหัวใจ การจะเลือกรักษาวิธีใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งอายุ ประวัติการเจ็บป่วย อาการแสดงของผู้ป่วย ชนิดของโรคหัวใจเต้นระริก ระยะเวลาในการเกิดหัวใจเต้นพริ้ว และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
 

การคุมอัตราการเต้นหัวใจ
การคุมอ้ตราเต้นหัวใจห้องล่างไม่ให้เร็วเกินไป โดยอาศัยยากั้นไฟฟ้าผ่าน AV node หากหัวใจห้องล่างเต้นเร็วและไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานานจะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงและล้มเหลวตามมาได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคุมอัตราเต้นหัวใจขณะพักให้ไม่สูงกว่า 110 ครั้งต่อนาที ยาในกลุ่มนี้ได้แก่

  • Beta-blockers เช่น Metoprolol Atenolol Bisoprolol
  • Non-dihydropyridine calcium channel blockers ได้แก่ Verapamil Diltiazem
  • Digoxin ยาตัวนี้ไม่ใช้เป็นทางเลือกหลัก ควรพิจารณาเลือกใช้ต่อเมื่อใช้ยา Beta-blockers หรือ Non-dihydropyridine calcium channel blockers ไม่ได้ หรือใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย
  • Amiodarone เป็นยาควบคุมทั้งอัตราและจังหวะการเต้นหัวใจ มักนิยมให้ผ่านทางหลอดเลือดดำกรณีที่มีอัตราเต้นหัวใจที่เร็วกว่าปกติ

การคุมจังหวะการเต้นหัวใจ
การปรับจังหวะการเต้นหัวใจทำได้ด้วย 2 วิธีหลัก คือ

  1. การรักษาด้วยยา มียาหลายตัวที่สามารถปรับจังหวะการเต้นหัวใจให้กลับมาเต้นปกติได้ ประสิทธิภาพของยาแต่ละตัวต่างกัน ยากลุ่มนี้ได้แก่ Flecainide Propafenone Amiodarone Dronedarone Dofetilide Ibutilide
  2. การช็อคด้วยไฟฟ้า

ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องทำการคุมจังหวะโดยฉุกเฉินได้แก่ ผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพไม่คงตัว การเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การเกิดหัวใจล้มเหลว ในขณะเกิดโรคหัวใจเต้นพริ้ว
 

การจี้รักษา

ข้อบ่งชี้ในการจี้รักษา คือ ผู้ป่วยที่ยังมีอาการจากโรคหัวใจเต้นพริ้วอยู่มาก แม้ว่าได้รับการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจห้องล่างแล้ว ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการควบคุมจังหวะให้ปกติแต่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา หรือมีผลข้างเคียงจากยา หรือไม่ประสงค์จะทานยา ในผู้ป่วยที่เป็น Paroxysmal AF อายุน้อย และไม่มีความผิดปกติของหัวใจที่ตรวจพบได้ หรือ ในผู้ป่วยที่มีหัวใจล้มเหลวหรือมีการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติ การรักษาวิธีนี้แพทย์จะใส่สายสวนพิเศษสอดผ่านหลอดเลือดดำที่ขาหนีบภายใต้การระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อหาตำแหน่งสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติในผนังหัวใจ และใช้พลังงานความร้อนจี้ทำลายสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกตินั้น การจี้หัวใจมีหลายวิธี 


การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและลิ่มเลือดอุดตันในสมอง
โรคหัวใจห้องบนเต้นระริกเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดและลิ่มเลือดอุดตันในสมองอย่างมาก เนื่องจากในภาวะนี้หัวใจห้องบนไม่สามารถบีบตัวผลักดันเลือดจากหัวใจห้องบนได้ จึงทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ หากลิ่มเลือดในหัวใจเข้าสู่กระแสเลือด อาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นระริกที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดระดับปานกลาง หรือ สูง แพทย์จะให้กินยาต้านการเกิดลิ่มเลือด การพิจารณาใช้ยาต้านการเกิดลิ่มเลือดในผู้ป่วยนั้นต้องพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกจากผลของยาด้วย ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกสูงอาจพิจารณาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองด้วยวิธีอื่น

ยาต้านการเกิดลิ่มเลือดในปัจจุบันแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้

  • Warfarin คือ ยา vitamin K dependent coagulation factors antagonist เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้มานาน แต่มีข้อเสียคือ ไม่มีฤทธิ์คงตัวอาจต้องปรับขนาดยาเป็นประจำ ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจประสิทธิภาพของยาเป็นประจำ มีการรบกวนผลของยาจากอาหารที่รับประทาน และมีปฏิกริยากับยาอื่นๆมาก
  • NOACs (New oral anticoagulants) ป้จจุบันมียาต้านการแข็งตัวของเลือด ชนิดรับประทานที่มีการศึกษาวิจัยขึ้นใหม่สองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่ม Direct thrombin inhibitor ได้แก่ Dabigatran (Pradaxa) อีกกลุ่มหนึ่งคือ Factor Xa inhibitors ได้แก่  Rivaroxaban (Xarelto) Apixaban (Eliquis) Endoxaban (Savaysa) ยาใหม่ทั้งสองกลุ่มนี้มีข้อดีกว่า Warfarin คือ ลดผลข้างเคียงที่ทำให้เลือดออกในสมอง ออกฤทธิ์เร็วเมื่อเริ่มทานยาและหมดฤทธิ์เร็วเมื่อหยุดยา มีฤทธิ์คงตัวไม่ต้องปรับขนาดยา ไม่ต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจประสิทธิภาพของยา ไม่มีการรบกวนผลของยาจากอาหารที่รับประทาน และมีปฏิกริยากับยาอื่นน้อยกว่า Warfarin ข้อเสียคือเป็นยาใหม่ ยามีราคาแพง ใช้ยากในผู้ป่วยที่หน้าที่ไตบกพร่อง และยังไม่มียาแก้ฤทธิ์หากเกิดภาวะเลือดออกมากกระทันหัน
https://ww2.bangkokhospital.com/hearthospital/th/heart-care-excellence/medical-services/detail/32

ความประทับใจจากผู้ใช้งานจริง

การรับประกันสินค้า

เครื่องวัดความดันประกันศูนย์

5

YEAR WARRANTY

ปลอกแขนประกันศูนย์

2

YEAR WARRANTY

อะแดปเตอร์ประกันศูนย์

1

YEAR WARRANTY

ที่วัดไข้อินฟราเรดประกันศูนย์

2

YEAR WARRANTY

ที่วัดไข้ดิจิทัลประกันศูนย์

Lifetime

WARRANTY

สมาพันธ์เฮลธ์” โหนกระแส IoT ผนึกกำลังรพ.จุฬา/CT ASIA ลดความเสี่ยง STROKE ด้วยเทคโนโลยี AFIB

บริษัท สมาพันธ์เฮลธ์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่สรรหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนไทยและคนทั่วโลก รวมทั้งกระแสเทคโนโลยีไอโอทีที่มีอิทธิพลต่อหลายธุรกิจ ก็ได้นำไอโอทีมาต่อยอดธุรกิจเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลสุขภาพของประชาชน ด้วยการพัฒนาไอโอทีร่วมกับหุ่นยนต์ เพื่อใช้สนับสนุนการรักษาทางการแพทย์

อ่านเพิ่มเติม

งานประชุมวิชาการกลางปี ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

งานประชุมวิชาการกลางปี ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ

อ่านเพิ่มเติม

งานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 18 ประจำปี 2563 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

งานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 18 ประจำปี 2563 โดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ

อ่านเพิ่มเติม